นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ เผยว่า จากสื่อวิทยุโทรทัศน์หลาย ๆ ช่องได้มีการนำเสนอข่าว #การฆ่าตัวตาย ทำให้กลุ่มผู้ที่เปราะบางอยู่แล้วนั้นส่งผลไปกระตุ้นให้คนเลียนแบบการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น
จากเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิตได้มีการกล่าวถึงประเด็นดังกล่าว โดยนพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการศึกษาทั่วโลกมีข้อมูลตรงกันว่าการฆ่าตัวตายเป็นพฤติกรรมที่มีความสลับซับซ้อน ไม่อาจจะบอกได้ว่ามาจากสาเหตุเดียว หรือมีความเครียด นั่นแปลว่าต้องมีความเครียดสะสมหลายอย่าง หากเป็นโรคซึมเศร้าก็ต้องมีสาเหตุอื่น ๆ ที่สะสมมาก่อน ทั้งนี้เมื่อเกิดเหตุฆ่าตัวตายขึ้นแล้วพบว่าความสูญเสียไม่ได้จบอยู่แค่นั้น แต่จะทำให้คนรอบข้างของผู้เสียชีวิต ญาติ เกิดความรู้สึกผิดว่าตัวเองมีส่วนที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นั้นหรือไม่ ทั้งที่จริง ๆ แล้วไม่ได้มีส่วนเลย แต่ก็จะโทษตัวเองอยู่อย่างนั้น บางคนอาจจะก้าวผ่านความรู้สึกสูญเสียและความรู้สึกผิดไปได้เมื่อเวลาผ่านไป แต่บางคนไม่สามารถก้าวผ่านได้ ต้องเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องได้รับการเยียวยาต่อไป
นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้การนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายนั้นไม่ได้มีข้อห้าม แต่เป็นจรรยาบรรณของสื่อทั่วโลกว่าจะต้องไม่พาดหัวข่าวว่าการฆ่าตัวตายนั้นมาจากสาเหตุอะไร ไม่เสนอภาพ เสนอชื่อ นามสกุล และแหล่งข้อมูลที่เชื่อมโยงไปถึงคนใกล้ชิด เพราะบรรดาคนใกล้ชิดเขามีความสูญเสีย เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ยังต้องมาถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวให้รู้สึกผิดด้วย นอกจากนี้ การเสนอข้อมูลรายละเอียด เช่น นี้ยังเป็นสิ่งที่ไปกระตุ้นกลุ่มเปราะบางที่กำลังมีปัญหาแบบเดียวกับ ผู้ฆ่าตัวตาย ก็จะไปกระตุ้นให้คนกลุ่มนี้คิดว่านี่คือทางออกของปัญหา จนเกิดการเลียนแบบการฆ่าตัวตายขึ้น ซึ่งในสังคมนี้ เราไม่รู้ว่าใครมีปัญหาอะไร ใครเป็นกลุ่มเปราะบาง ดังนั้นจึงต้องระวังการนำเสนอข่าวไม่ให้ไปกระตุ้นให้คนเลียนแบบการฆ่าตัวตาย
สิ่งที่สื่อมวลชนควรเสนอเมื่อเกิดเหตุ คือหาทางออกของปัญหา แหล่งข้อมูลที่ผู้ที่มีปัญหาสามารถปรึกษา ขอความช่วยเหลือได้ อย่างสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือช่องทางอื่น ๆ วันนี้สื่อไทยเองถือว่ามีความตระหนักเรื่องนี้บ้าง แต่ด้วยความที่มีสื่อเกิดขึ้นเยอะ หลากหลายขึ้นจึงยังไม่การเสนอข่าวที่ไม่เหมาะสม
โดยในหลักจริยธรรมของเว็บไซต์สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยกล่าวถึง ระเบียบหรือข้อบังคับที่สื่อควรปฏิบัติได้แก่
1.นำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสาร ข้อเท็จจริง เพื่อประโยชน์สาธารณะด้วยความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นธรรม
2.เคารพสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิส่วนบุคคล ของผู้ที่เกี่ยวข้องใน ข่าว
3.มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อวิชาชีพสื่อสารมวลชนและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
4.ปกป้องและปฏิบัติต่อแหล่งข่าวอย่างเป็นธรรม
5.ให้ความเป็นธรรมต่อผู้ตกเป็นข่าว หากนำเสนอข้อมูลผิดพลาดต้องดำเนินการแก้ไข โดยทันที พร้อมขออภัยในความผิดพลาดดังกล่าว
6.ส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพของการเสนอข่าวและความคิดเห็น
7.ไม่กระทำการอันเป็นการบั่นทอนเกียรติคุณของวิชาชีพ หรือความสามัคคีของเพื่อน ร่วมวิชาชีพ
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ข่าวกรมสุขภาพจิต และเว็บไซต์สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย