ลุงดำ สุชิน เอี่ยมอินทร์ จากคนเร่ร่อนเข้าสู่นายกสมาคมคนไร้บ้านตลิ่งชัน หวังผลักดันเรียกร้องสิทธิ​ให้คนไร้บ้านหวังความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 

นาย สุชิน เอี่ยมอินทร์ หรือที่เราเรียกว่า ลุงดำ ปัจจุบันเป็นนายกสมาคมคนไร้บ้าน ประกอบอาชีพเก็บของเก่าขาย

ลุงดำ เป็นคนกรุงเทพมหานคร บ้านอยู่พุทธมณฑลสายสาม ลุงดำเป็นคนไร้บ้านตั้งแต่ปี พ.ศ.2544เมื่อก่อนได้ประกอบอาชีพเป็นช่างไม้ตกแต่งภายใน โดยมีนายจ้างเป็นนายทุนญี่ปุ่น แต่เวลาผ่านไปนายจ้างเกิดภาวะขาดทุนเลยต้องกลับประเทศ ลุงดำจึงกลายเป็นคนว่างงานโดยได้เงินงวดสุดท้ายเป็นเงินจำนวน 2000 บาท หลังจากนั้นก็ได้กลับบ้านมาตั้งหลักเพื่อที่จะหางานใหม่แต่อยู่ได้ไม่นาน ลุงดำก็หนีออกจากบ้านเพราะไม่อยากเป็นภาระของครอบครัวโดยไปอาศัยอยู่ที่สนามหลวงลุงดำเลยกลายเป็นคนไร้บ้านตั้งแต่นั้นมา เวลาผ่านไปงานก็หาไม่ได้เงินที่ได้มาจากงานที่เก่าก็หมดลง แต่ก็ได้มีคนไร้บ้านคนหนึ่งแนะนำอาชีพให้ลุงดำคือเก็บของเก่าขาย เช่น ขวดน้ำ กระดาษ ฯ เดิมทีลุงดำไม่อยากที่จะทำอาชีพนี้แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างเพื่อความอยู่รอดของตัวเองจึงต้องทำ ในระหว่างที่ลุงดำเก็บของเก่าขายก็ได้มีการไปสมัครอาชีพ รปภ. แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำงานได้เพราะอายุเกิน และวุฒิการศึกษาไม่ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด

กิจวัตรประจำวันตอนเป็นคนไร้บ้าน ลุงดำจะตื่นเวลา 6 โมงเช้าไปช่วยงานที่วัดบวรเพราะจะได้ข้าวได้อาหารมาประทังชีวิต ส่วน 6 โมงเย็นต้องไปหาของเก่าขายและจะกลับมานอนที่สนามหลวงตอนตี 1 ถึง ตี 2 และถึงแม้ว่าชีวิตในช่วงนั้นจะลำบากแต่ลุงดำก็มีน้ำใจในการแบ่งข้าวแบ่งปันสิ่งของให้กับคนไร้บ้านคนอื่นๆ จนวันนึงหลวงตาที่รู้จักก็ได้ให้ปัจจัยจำนวน 500 บาท เพื่อให้ลุงดำไปลงทุนประกอบอาชีพแต่ทำได้ไม่นานก็โดนเทศกิจมาจับริบสินค้าจนต้องเลิกขาย

คนไร้บ้านนั้นยังมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกทั้งยังมีการขโมยทรัพย์สินคนไร้บ้านด้วยกันเองแบบโจ่งแจ้ง ทั้งยังต้องคอยหลบเทศกิจที่มาจับหรือไล่ที่ และในช่วง APAC ได้มีการกวาดล้างคนไร้บ้านรวมถึงสุนัขเร่ร่อน พาไปอยู่วิวัฒน์พลเมือง เขาใหญ่ ทั้งคนไม่สมประกอบ คนสติไม่ดีก็อยู่รวมกันที่นั่น แต่ก็ยังมีคนบางส่วนที่หลบหนีออกมาได้จากสถานที่กักกันโดยแตกแขนงกันไปตามหลายพื้นที่ เช่น กรมประชาสงเคราะห์(สถานคนไร้ที่พึ่ง) พื้นที่อำเภอปากช่อง และพื้นที่จังหวัดนนทบุรี

พรบ. คนไร้ที่พึ่งที่ออกมาเปลี่ยนจากกรมประชาสงค์เคราะห์กลายเป็นสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง แต่รอบหลังจะไม่มีการจับแต่เป็นการใช้กลยุทธในการพาเข้าสถานที่พึ่งแต่ไม่สามารถออกมาได้เหมือนสถานกักกันแห่งหนึ่งแต่ในสถานที่พึ่งคนไร้บ้านก็มีอาหารให้และมีงานให้ทำเพื่อหารายได้เข้ามาดูแลอย่างต่อเนื่อง แต่สุดท้ายคนไร้บ้านก็ไม่ชอบกับการอยู่ในสถานที่แบบนี้เพราะไม่มีอิสระ

ลุงดำเล่าว่า ” มันก็เปลี่ยนชื่อหน่อยเดียวเอง จากประชาคงสงค์เคราะห์ก็เอาชื่อสถานคนไร้ที่พึ่งมาสวมแทน ซึ่งไม่ผิดอะไรกับกรมประชาสงค์เคราะห์เก่า แต่คราวนี้เขาไม่ได้จับ แต่เขาเชิญ หรือใช้กลยุทธ อย่าง ลุงอยากมีข้าวกินไหม นอนสามเวลานะมีที่นอน เอ่อ..มีงานทำ มีอะไร บางคนไม่รู้ไงก็ เอ่อ..เอาสิครับดี ไม่อยากจะนอนอยู่อย่างนี้ ไปขึ้นรถไปกับเขา ไปเขาสถานคนไร้ที่พึ่งแต่ออกมาไม่ได้ ซึ่งลุงก็บอกว่าพวกนั้นคือคุกดี ๆของพวกเรานี่เอง ที่เรียกว่าคุกเพราะอะไร 1.มันอยู่ในกรงสี่เหลี่ยม มียามหน้าประตู มียามหนึ่งด้านนี้(ชี้วาดเป็นแผนผัง) เขาไม่ให้ออก ไม่ให้ออกเสร็จแล้วข้าวคุณต้องกินเป็นเวลา นอนเป็นเวลา เช้ามาเขาก็พาไปทำงาน ถนัดงานไหนก็ไปงานนั้น ปลูกผัก เลี้ยงหมูไป จักรสานมาทางนี้ คือไปทำงานแล้วเอาสิ้นค้านี้ไปขายแล้วก็เอาเงินเข้ามาคุมกองนี้ เพื่อจะมาซื้อข้าวซื้ออะไรไปกิน ทำงานแลกเหมือนกัน แต่ถามว่าทำไมพวกเราไม่ชอบ อิสระอ่ะเนอะ มันไม่มีอิสระจริงไหมครับ ไม่มีอิสระใครจะไปชอบ ลุงก็เลยไม่ชอบ ”

ลุงดำได้เข้าร่วมกลุ่มคนไร้บ้านที่ศูนย์แรกคือศูนย์ตลิ่งชัน โดยที่แรกที่ลุงดำได้ไปสัมมนาคนไร้บ้านคือที่ระยอง และได้มีการระดมความคิดเห็นในช่วงสัมมนาและลุงดำได้เสนอความคิดเห็นจนทำให้ลุงดำได้เป็นผู้นำตัวแทนกลุ่มคนไร้บ้านในการเจรจากับภาครัฐ

หลังจากที่ได้เข้าร่วมกลุ่มคนไร้บ้านก็ได้เจอกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งการนอนหลับสนิท การอยู่แบบครอบครัวฉันท์พี่น้อง

เวลาผ่านไปได้มีคนไร้บ้านญี่ปุ่นเชิญลุงดำไปดูคนไร้บ้านที่ญี่ปุ่น ส่วนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทางฝ่ายนั้นจะออกให้ โดยไปโตเกียวและโอซากา ซึ่งทางของญี่ปุ่นได้มีการหิ้วน้ำชาร้อนโดยรินให้คนไร้บ้านดื่มจนทำให้ลุงดำนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยโดยมีชื่อเรียกว่า “ กิจกรรมเดินกาแฟ ” และความเป็นจริงประเทศญี่ปุ่นไม่จับคนไร้บ้านแต่จะเป็นการไล่โดยคนไร้บ้านที่ญี่ปุ่นจะเสียชีวิตในห้องน้ำมากที่สุดเพราะไม่มีที่หลบอากาศหนาว

ต่อมาได้มีการอนุมัติงบให้ 118 ล้านบาท โดยตัวแทนจากภาครัฐคือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นำงบมาให้ ทำให้ได้มีการเกิดศูนย์ที่เชียงใหม่ที่แรกเรียบร้อยโดยการสร้างแบบเป็นเชิงท่องเที่ยว โดยถ้าเข้าพักจะมีค่าใช้จ่ายคืนละ 100 บาท และดาดฟ้าจะมีการปลูกผัก บุคคลที่เข้าพักก็สามารถขึ้นไปเก็บผักมาปรุงอาหารได้ และผักต่าง ๆ ก็จะมีการนำไปขายเพื่อนำเงินรายได้มารวมเป็นเงินเครือข่าย ศูนย์ที่สองคือที่ขอนแก่นเสร็จเรียบร้อยแล้ว และศูนย์ที่สามคือที่ปทุมธานีตอนนี้กำลังก่อสร้างได้แล้ว 60 เปอร์เซ็นต์ จากสามศูนย์ก็มีงบเหลืออีก 6 ล้าน จึงได้นำเงินที่เหลือไปซื้อที่ดินสามไร่ ราคา 6 ล้าน แถวเลียบวารี

จากการที่เราได้เรียนรู้และพูดคุยกับลุงดำ ทำให้เราพบมุมมองใหม่ๆ จากที่่เคยเห็นว่าคนไร้บ้านเป็นภัย ดุร้าย ลักขโมยโดยนิสัย แท้จริงแล้วก็ไม่เสมอไป หลายคนก็ต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อเอาตัวรอด ต้องดุร้ายเพื่อไม่ให้ใครมารังแก ต้องขโมยเพราะความหิวโหย เราควรเห็นใจและหาทางช่วยเหลือ เปลี่ยนแปลงให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น ไม่ใช่แค่การบริจาคแต่ต้องสนับสนุนเพื่อยกระดับชีวิต เกิดการพัฒนาตัวเอง ดังนั้น ภาครัฐคือส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อให้กลุ่มคนไร้บ้านได้รับการช่วยเหลืออย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

https://www.youtube.com/watch?v=tFxtz8YFv9g&t=17s

 

https://www.youtube.com/watch?v=SeoswWvnfc0&t=8s

 

 

แบ่งปันบทความนี้