สัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ”

สัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” กับการเลือกกินเพื่อลดหวาน มัน เค็ม

สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” เป็นฉลากโภชนาการที่รู้จักและจดจำได้ง่าย ซึ่งแสดงอยู่บนด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์อาหารสังเกตเห็นได้ง่ายและชัดเจนทำให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจในการเลือกซื้อได้สะดวกยิ่งขึ้น

 

ศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารศึกษา คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ เล่าถึงที่มาของสัญลักษณ์โภชนาการว่า “สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ”ถูกพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชนเครือข่ายที่รณรงค์ในการลดหวาน มัน เค็ม และภาควิชาการ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อหาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีปริมาณโซเดียม น้ำตาล หรือ ไขมันต่ำลง เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องในคนไทย

ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ”

โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเครื่องหมายต้องผ่านเกณฑ์โภชนาการที่กำหนด และผ่านการเฝ้าระวังจากภาควิชาการ ปัจจุบัน มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการฯ ได้ออกเกณฑ์ด้านโภชนาการสำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร 8 กลุ่มที่ ได้แก่ อาหารมื้อหลัก เครื่องปรุงรส เครื่องดื่ม นม อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว น้ำมันและไขมัน รวมถึงไอศกรีม โดยผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ผ่านมาตรฐาน ต้องมีปริมาณน้ำตาล ไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ปัจจุบันประเทศไทย กำหนดปริมาณการบริโภคหวานให้ปลอดภัย คือ ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน (1 ช้อนชา = 4 กรัม)

การบริโภคเกลือ ไม่ควรเกิน 1 ช้อนชา ต่อวัน (โซเดียม ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน) และ ควรบริโภคน้ำมันไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา หรือประมาณ 30 กรัม

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ”

ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2562 มีทั้งสิ้น 1442 ผลิตภัณฑ์

แบ่งเป็น
– กลุ่มอาหารมื้อหลัก 27 ผลิตภัณฑ์
– กลุ่มเครื่องดื่ม 1006 ผลิตภัณฑ์
– กลุ่ม เครื่องปรุงรส 40 ผลิตภัณฑ์
– กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป 103 ผลิตภัณฑ์
– กลุ่มผลิตภัณฑ์นม 143 ผลิตภัณฑ์
– กลุ่มขนมขบเคี้ยว 57 ผลิตภัณฑ์
– กลุ่มไอศกรีม 57 ผลิตภัณฑ์
– กลุ่มน้ำมันและไขมัน 1 ผลิตภัณฑ์
– กลุ่มขนมปัง 4 ผลิตภัณฑ์
– กลุ่มอาหารธัญพืช 1 ผลิตภัณฑ์

ในประเด็นนี้ อาจารย์เหมือนแพร รัตนศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ให้ความเห็นว่า

ฉลากทางเลือกสุขภาพพัฒนามาจากฉลากโภชนาการ ฉลากโภชนาการที่มันอยู่ตามหลังซองขนม หลังผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เราก็จะเห็น พวกแคลอรีต่าง ๆ ที่จะอยู่หน้าผลิตภัณฑ์ที่พร้อมรับประทานเลยอันนี้ ถ้าหากว่าเราไม่ได้ศึกษาหรือเรียนมา เราก็จะอ่านไม่รู้เรื่อง ตัวอักษรก็ตัวเล็กมาก ๆ บางทีคุณตาคุณยาย หรือคนอื่นที่ไม่ได้เรียนทางโภชนาการ ก็จะไม่เข้าใจ มันจึงถูกพัฒนามาเป็นฉลากทางเลือกเพื่อสุขภาพ เพราะฉะนั้นนี่ถ้าเราเห็นฉลากตัวนี้ อยู่ที่ผลิตภัณฑ์ใดก็ตามเราก็จะแน่ใจเลยว่าผู้ผลิตก็ปรับลดจากสูตรเดิม ซึ่งมันจะเป็นน้ำตาลตามสูตร คือลดลงมาแล้ว อย่างน้อย 25% – 50% ถึงได้ฉลากทางเลือกเพื่อสุขภาพภาพ เนื่องจากว่าผู้ผลิตจะต้องเอาไปขอกับทาง อย. (องค์การอาหารและยา) ก่อน เพื่อที่จะได้ตัวฉลากตัวนี้ ซึ่งแม้จะไม่ได้เรียนหนังสือ หรือไม่ได้เรียนทางโภชนาการมาแต่เห็นฉลากตัวนี้เป็นรูปแบบนี้ ก็สามารถมั่นใจได้เลยว่าเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพแล้วก็มีการปรับลดน้ำตาล ลดความมันมาแล้วเรียบร้อยแล้ว

โดยสามารถดูรายชื่อผลิตภัณฑ์ทั้งหมดได้จาก เว็บไซต์ทางเลือกสุขภาพ
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.sanook.com/health/8397/
และอาจารย์เหมือนแพร รัตนศิริ

แบ่งปันบทความนี้