ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลกรุเทพ เผย 9 วิธีรับมือเมื่อเด็กถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน โดยย้ำว่าปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็กในระยะยาว
ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีกี่ยุคสมัย การรังแกหรือกลั่นแกล้งกันก็ยังคงไม่เลื่อนหายไปจากสังคมโลก โดยเฉพาะน้องๆ วัยรุ่นวัยเรียนรู้ หลายครั้งที่เราเห็นเหตุการณ์การรังแกหรือล้อเล่นกันเกินเลยไปจนถึงการทําร้ายตัวเอง สาเหตุมาจากเรื่องเล่นๆ ที่ไม่เล่นอย่างการบูลลี่หรือการรังแกกลั่นแกล้ง เมื่อการแก้ไขปัญหาการบูลลี่ให้หมดไปไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งที่เราต้องทำคือควรมีวิธีรับมืออย่างไรเมื่อเราหรือคนใกล้ตัวถูกบูลลี่
บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS จึงได้จัดกิจกรรมเพื่ออบรมให้ความรู้ แก่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ที่โรงเรียนทอสี ในหัวข้อ “คำพูดสร้างสรรค์ สร้างสังคมน่าอยู่ ไม่บูลลี่ในเด็ก” เพื่อเป็นการสานต่อโครงการ “Shared Kindness คำพูดสร้างสรรค์ สร้างสังคมน่าอยู่” รณรงค์ลดการทำร้ายจิตใจผ่านคำพูด สนับสนุนการส่งต่อคำพูดสร้างสรรค์ในสังคมไทย นพ.กมล แสงทองศรีกมล ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า “ในมุมของผู้ใหญ่ เรามักจะมองว่าการกลั่นแกล้งกันในเด็ก เป็นเรื่องเด็กเล่นกัน เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในมุมของเด็กที่ถูกกระทำ ถูกกลั่นแกล้งนั้น เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเขา เพราะเด็กต้องเจอกับปัญหาเดิมๆ ซ้ำๆ ทุกๆ วัน เราควรจะต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก และสามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็กได้ในระยะยาว
นพ.กมล แสงทองศรีกมล ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้ฝาก “เคล็ดไม่ลับ 9 วิธีรับมือ เมื่อเด็กๆถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน”
- ทำความเข้าใจว่าการกลั่นแกล้งคืออะไร
การทำความใจว่าการกลั่นแกล้งคืออะไร เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจปัญหาของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำมากขึ้น - กล้าที่จะพูดหรือแสดงความไม่พอใจต่อผู้กระทำ
หลายครั้งที่ปัญหาการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นกับบุคคล บุคคลหนึ่งมาอย่างยาวนาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ถูกกระทำ ไม่กล้าที่จะพูด หรือแสดงความไม่พอใจออกมา ทำให้ผู้กระทำไม่รับรู้ว่าผู้ถูกกระทำนั้นมีความรู้สึกอย่างไร จึงกระทำการกลั่นแกล้งซ้ำๆ - บอกเล่าการโดนกลั่นแกล้งกับพ่อแม่ผู้ปกครองหรือครู
ส่วนใหญ่แล้ว ปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียน เกิดจากการที่ผู้ถูกกระทำ ไม่ได้บอกเล่าเรื่องถูกกลั่นแกล้งให้พ่อแม่ ผู้ปกครองและครูทราบ จึงทำให้ปัญหาการกลั่นแกล้งยังคงเกิดขึ้น และไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด ดังนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่ต้องสอนเด็กและลูกหลานของเรา “ไม่ให้เงียบ” , “เพิกเฉย” หรือ “ทนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น” และ จงกล้าที่จะบอกเล่าปัญหาของตนกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูที่โรงเรียน - การกลั่นแกล้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
หากว่าผู้ถูกกระทำ ถูกกลั่นแกล้งทางร่างกายหรือทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูดด่าทอเชื้อชาติหรือเพศสภาพ ใช้กำลังและความรุนแรงรังแกผู้อื่น หรือแม้แต่การแชร์เรื่องส่วนตัวของผู้อื่นในอินเทอร์เน็ต ล้วนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น หากว่ามีการพบเจอการกลั่นแกล้งที่รุนแรงเช่นนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูสามารถรายงานเรื่องนี้ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป - อย่ามองว่าตัวเองเป็นปัญหา
การมีอัตลักษณ์ที่ต่างจากผู้อื่น เช่น เพศสภาพ เชื้อชาติ รูปร่างหน้าตา ที่ต่างจากผู้อื่น ไม่ใช่ปัญหาของผู้ถูกกระทำเลยแม้แต่น้อย แต่เป็นเพราะทัศนคติของผู้กระทำต่อผู้อื่นต่างหาก สิ่งที่สำคัญคือเราต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองของตนเองก่อนเป็นอันดับแรก - มองหาวิธีจัดการกับความเครียด
การกลั่นแกล้งนั้นสามารถสร้างความเครียดให้แก้ผู้ถูกกระทำเป็นอย่างมาก นอกจากการบอกเล่าปัญหาต่อผู้ที่ไว้ใจ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พ่อแม่ หรือครูแล้ว ควรลองมองหากิจกรรมหรือสิ่งใหม่ๆ เช่น การออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง หรือออกไปเที่ยว เพื่อจัดการกับความเครียดของตนเอง และทำให้สภาพจิตใจไม่หมกมุ่นต่อสิ่งที่เกิดขึ้น - อย่าแยกตัวออกมาอยู่คนเดียว
การอยู่คนเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือทำให้เราจัดการกับการกลั่นแกล้งได้ อีกทั้งยังสามารถทำให้สถานการณ์แย่ลงไปเรื่อยๆ การอยู่คนเดียวเงียบๆ จะทำให้ลดความมั่นใจและความภาคภูมิใจของผู้ถูกกระทำได้ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ผู้ปกครองและครู ที่จะคอยสอดส่อง ดูแล พฤติกรรม อารมณ์ของเด็กๆ และบุตรหลาน ไม่ให้ตกอยู่ในภาวะเงียบหรือปลีกตัวมาอยู่คนเดียว - ดูแลสุขภาพกายและใจของตนเองให้ดี
การกลั่นแกล้งนั้นสามารถสร้างบาดแผลและปมในใจให้กับผู้ถูกกระทำซึ่งสามารถส่งผลต่อสภาพร่างกาย เช่น การอดอาหาร เครียดจนนอนไม่หลับ เป็นต้น หากบุตรหลานของท่านได้รับการกลั่นแกล้งที่กระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจ ควรพาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและจิตวิทยา เพื่อช่วยให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาได้อย่างดีและตรงจุด - มองหาบุคคลต้นแบบที่ดี
การกลั่นแกล้ง ทำให้ผู้ถูกกระทำสับสนและไม่ชอบในตัวเอง หากว่าผู้ถูกกระทำมีบุคคลต้นแบบที่ดี จะสามารถทำให้เห็นได้ว่า มีอีกหลายคนที่เคยพบเจอกับปัญหาเดียวกัน แต่พวกเขาก็สามารถก้าวข้ามผ่านการโดนกลั่นแกล้งจนสามารถประสบความสำเร็จได้ การมีบุคคลต้นแบบที่ดีนั้น จะทำให้ผู้ถูกกระทำ มองเห็นคุณค่าของตัวเองและรักตัวเองมากขึ้น
ทั้งนี้อาจารย์ ปิยพงศ์ แซ่่ตั้ง อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้อธิบายเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งในวัยเด็ก และ การกลั่นแกล้งแบบ Cyberbully ดังนี้
การกลั่นแกล้งในวัยเด็ก
ถ้าพูดถึงการบูลลี่ในวัยเด็กสิ่งที่เราควรทำคือสอนหรือปลูกฝังเด็กการสอนให้เขามีค่านิยมที่รู้ว่าการบูลลี่มันไม่ใช่สิ่งที่ดีสอนให้เขารู้จักเคารพคนอื่น ขณะเดียวกันถ้าเขาถูกบูลลี่เราก็ต้องสอนวิธีจัดการที่ถูกต้องให้กับเขา และการบูลลี่แบบดั้งเดิม มักเกิดที่โรงเรียนเพราะมันคือสังคมแรก เมื่อเด็กห่างจากครอบครัวฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยรับมือเมื่อมีการบูลลี่เกิดขึ้น คือ ครู อาจารย์ บุคลากในโรงเรียน บุคคลเหล่านี้คือคนที่จะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเด็กๆที่ถูกบูลลี่ได้อย่างรวดเร็ว
การกลั่นแกล้ง Cyberbully
ไซเบอร์บูลลี่ คือการถูกกลั่นแกล้งในโลกโซเชี่ยลด้วยคำพูด ดูถูก เหยียดหยาม หรือ การด่าทอ
วิธีรับมือกับมันคือ การพยายามที่จะเอาตัวเองออกจากโลกโซเชี่ยลไม่ยึดติดกับมัน หรือพักจากโลกโซเชี่ยลหรือจัดการคนพวกนั้น เช่น การบล็อก วิธีรับมือเมื่อถูก Cyberbully ก็เหมือนกับการรับมือเมื่อถูก Bully ถ้าเราไม่แคร์ ไม่สนใจ คนพวกนั้นก็ไม่มีอิทธิพล หรือ อำนาจกับเรา สิ่งที่เราควรจะทำเมื่อถูกบูลลี่คือ เราไม่ควรให้ความสำคัญกับการกระทำของคนๆ นั้น เพราะจุดประสงค์ ของการบูลลี่คือ การแสดงอำนาจ ต้องการพาวเวอร์จากการทำให้คนอื่นรู้สึกต้อยต่ำ ฉะนั้น ถ้าเราไม่สนใจ ไม่แคร์การกระทำของคนเหล่านั้น คนเหล่านั้นก็จะไม่มีอำนาจ หรือ อิทธิพลต่อเรา สิ่งที่เราต้องทำคือ รีบเอาตัวเองออกจากสถานการณ์นั้น เมื่อเขาไม่ได้สิ่งที่เขาต้องการจากเรา เขาก็จะหยุดบูลลี่เรา ดังนั้นการแก้ไข้ปัญหาบูลลี่ คือ การหยุดบูลลี่ให้ได้