โรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าปัญหาสำคัญทางสุขภาพ โรคใกล้ตัวที่สามารถรักษาให้หายขาดได้
กรมสุขภาพจิต ห่วงกลุ่มวัยรุ่นเยาวชน เสี่ยงมีภาวะซึมเศร้า
และมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น
โรคซึมเศร้าเป็นความผิดปกติของสมองที่มีผลกระทบต่อความนึกคิด
อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรมและสุขภาพกาย
แต่คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าโรคซึมเศร้าเป็นผลมาจากความผิดปกติของจิตใจ
ในความจริงแล้วโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด
คือ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต
กล่าวถึงสถานการณ์โรคซึมเศร้าในสังคม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางสุขภาพ
และเป็นโรคใกล้ตัวที่สามารถรักษาให้หายขาดได้
หากไม่ได้รับการรักษาอาจรุนแรงจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้
จากข้อมูลสถิติขององค์การอนามัยโลก ในปีค.ศ.2017 ระบุว่า
มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วโลกประมาณ 322 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.4 ของประชากรโลก
และในประเทศไทย พบว่า มีคนไทยป่วยซึมเศร้า 1.5 ล้านคน
หากพิจารณาตามเพศและอายุของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
พบว่า ผู้หญิงเสี่ยงป่วยมากกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า
โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานอายุ 25-59 ปี ร้อยละ 62
และเป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 11.5 ทั้งนี้
แม้ในกลุ่มเยาวชนจะมีสัดส่วนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าน้อย
แต่นับเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญ
โดยมีข้อมูลพบว่า ในปี 2560 กลุ่มเยาวชนอายุ 20-24 ปี
มีอัตราการฆ่าตัวตายที่ 4.94 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 5.33 ต่อประชากรแสนคน
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า การให้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323
พบว่า กลุ่มเยาวชนโทรเข้ามาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น
สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 มีผู้โทรเข้ามาใช้บริการทั้งสิ้น 40,635 ครั้ง
เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 11-25 ปี จำนวน 13,658 ครั้ง
เมื่อจำแนกตามประเภทของปัญหาพบว่า สัดส่วนของเด็กและเยาวชน
ที่มีปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล ปัญหาความรัก ซึมเศร้า
และมีความคิดหรือความพยายามฆ่าตัวตายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
วัยรุ่นที่มีอายุ 19 ปี รายหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์ว่า
ช่วงที่เริ่มคิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าตอนที่มีปัญหาทะเลาะกับแม่อย่างหนัก
แล้วมีความคิดอยากจะตาย และเลือกที่จะปรึกษาปัญหาชีวิตกับเพื่อนอย่างเดียว
แต่ก็ตัดสินใจให้แม่เป็นคนพาไปพบแพทย์ หลังจากพบแพทย์
แพทย์ก็ได้ให้คำปรึกษาเบื้องต้นและแนะนำไกด์ไลน์ชีวิต
ให้ดีมากๆแต่ก็มีค่าใช้จ่ายเยอะพอสมควร
และก็จ่ายยามาให้สำหรับตัวเองคิดว่าการกินยาก็ช่วยได้เยอะมากๆ
เมื่อได้รับยาที่ถูกกับสารในสมองตัวเองก็จะทำให้ไม่คิดอะไรแย่ๆ
แต่เมื่อได้ยาที่ไม่ถูกกับตนเองก็จะมีอาการดิ่ง
แล้วก็ภาพหลอนในหัวตลอดเวลามีความคิดว่าตัวเองเป็นคนอื่นไป
ในส่วนของวัยรุ่นรายหนึ่งที่มีอายุอยู่ในช่วง 20-23 ปี
ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีตัวเองว่า เริ่ม สังเกตเห็นได้ตอนที่ตัวเองเริ่มร้องไห้ไม่หยุด
มีความคิดจะตาย ทำร้ายตัวเอง วางแผน แต่ก็ได้มีการปรึกษากับปรึกษาครอบครัวและเพื่อนบ้าง
สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจไปพบแพทย์เนื่องจากมีความรู้สึกว่ามันไม่ไหวแล้วจริงๆ
ไม่รู้จะให้ใครช่วย อยากหาย จึงไปหาหมอ ขอให้เขาช่วย
โดยหลังพบแพทย์ แพทย์ได้ให้คำแนะนำการแก้ไขเบื้องต้นและให้ยา
แต่สำหรับตัวเองการกินยามีผลข้างเคียงเยอะ
แต่จะช่วยแค่เรื่องการนอน นอนเยอะมากผิดปกติ
นอนหลับไม่เคยพอหรือนอนไม่หลับเลย
หิวมาก หรือกินน้อยลง ไม่มีสมาธิ ไม่มีสติ เบลอ ความจำสั้นมากๆ
พูดอะไรไปก็ลืม เรียนไม่รู้เรื่อง อารมณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง
ตัวสั่น ตัวชา ตัวเกร็ง ปวดหัวหนัก รู้สึกได้โรคเพิ่มขึ้นจากเดิม
คือภาพหลอนหูแว่ว เนื่องจากเอฟเฟคของยาเพราะเปลี่ยนมาหลายยามาก
สุดท้ายขอแนะนำถึงเพื่อนรุ่นเดียวกันที่มีความคิดว่าตัวเองเข้าข่าย
เป็นโรคซึมเศร้าให้ลองสังเกตตัวเองให้ดีๆ ว่ามีอาการเข้าข่ายจะเป็นไหม
แล้วรีบขอความช่วยเหลือคือการขอคำปรึกษา
การบอกคนอื่นว่าตัวเองมีอาการยังไง หรือพบแพทย์เลยก่อนที่จะมีอาการรุนแรงกว่านี้
โรคซึมเศร้า มีสาเหตุหลักที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง
และสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจการเงิน ความผิดหวัง ความสัมพันธ์
ความรัก ความสูญเสีย เป็นต้น หากเยาวชนไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้
จะทำให้ทุกปัญหากลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล
จนพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้าและคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้
และอาการของโรคซึมเศร้า ได้แก่ เศร้า หดหู่ ซึม เบื่อหน่าย หงุดหงิด
ฉุนเฉียว ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ มีความคิดอยากตาย
อธิบดีกรมสุขภาพจิต
แนะแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะซึมเศร้าและ
การฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กและเยาวชนสามารถป้องกันได้
โดยใช้หลัก 3 ส. คือ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อเชื่อมโยง
นักเรียนนักศึกษาที่มีความเครียดวิตกกังวลกับปัญหาที่เผชิญอยู่
จะมีผลต่อสมาธิและความสามารถในการเรียน
ซึ่งคนรอบข้างสามารถสังเกตอาการและพฤติกรรมที่ผิดปกติ
ได้แก่ อาการเหม่อลอย ไม่ร่าเริงแจ่มใส มาเข้าเรียนสายหรือเรียนไม่ทันเพื่อน
เมื่อพบเห็นภาวะดังกล่าว คนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นเพื่อน
อาจารย์ที่ปรึกษา คนใกล้ชิด รวมทั้งครอบครัว
ควรเข้าไปพูดคุยร่วมกันหาสาเหตุ รับฟังปัญหาอย่างเข้าใจและใส่ใจ
ให้การช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา
หรือพาไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการดูแลและรักษาอย่างถูกวิธี
จะทำให้อาการดีขึ้นและหายขาดได้
หรือสามารถโทรปรึกษาปัญหาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ของกรมสุขภาพจิตตลอด 24 ชั่วโมง
ขอบคุณข้อมูลจาก ประชาสัมพันธ์กรมสุขภาพจิต