พ่อ-แม่พูดคุยกับลูกมากขึ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน-ป้องกันปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงรียน

พ่อ-แม่พูดคุย-ซักถามลูกมากขึ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนหลังพบไทยติดอันดับ 2 ของโลกการถูกรังแกจากเพื่อน

พ่อ-แม่พูดคุยกับลูกมากขึ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน-ป้องกันปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน พ่อ-แม่พูดคุย-ซักถามลูกมากขึ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน หลังพบไทยติดอันดับ 2 ของโลกการถูกรังแกจากเพื่อน


ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 ของโลกที่มีสัดส่วนนักเรียนถูกรังแกจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันสูงถึงร้อยละ 40 รองจากญี่ปุ่นโดยกรมสุขภาพจิตเผยข้อมูลผลการสำรวจพบว่า มีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 6 แสนคนซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อทั้งอารมณ์จิตใจและร่างกายของเด็กทั้ง 2 ฝ่ายรวมถึงผู้ปกครองเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อแม่ไม่ควรปล่อยปละละเลยเป็นอันขาด


จากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองของนักเรียนคนแรกเผยว่า มีความกังวลว่าจะเกิดขึ้นกับลูกของตนแน่นอนแต่ก็มีการสังเกตจากพฤติกรรมของตัวเด็กเองเช่น เด็กจะบอกว่า ไม่ชอบเพื่อนหรือไม่อยากไปโรงเรียนเพราะโดนแกล้งเป็นประจำ โดยสาเหตุมาจาก มีบางอย่างเข้ากับเพื่อนไม่ได้หรือยังไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อนบางคนบางกลุ่มก็แจ้งคุณครูประจำชั้นให้ช่วยดูแลมากขึ้นรวมทั้งบอกถึงปัญหาของลูกเราให้คุณครูประจำชั้นรับทราบรวมถึงให้เด็กดูแลตัวเอง พยายามเลี่ยงกลุ่มเด็กที่ชอบแกล้งทั้งนี้ทางผู้ปกครองมองว่า การเกิดการบุลลี่ในเด็กอาจเป็นเพราะเด็กอาจจะไม่เข้าใจความแตกต่างในบุคลิกเฉพาะของคนบางกลุ่ม เช่น เด็กที่มีบุคลิกด้านร่างกาย ขาวดำ ฟัน ตา จมูก ที่เด่นผิดปกติเด็กที่มีบุคลิกด้านอารมณ์ เช่น สมาธิสั้น การเข้าสังคมไม่เก่งหรือเด็กที่สนใจเรียน แต่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆและมองว่าครอบครัว คือ กำลังหลักที่จะช่วยให้ปัญหานี้หมดไปอบรมสั่งสอนเรื่องนี้ ให้มาก เมื่อลูกๆ เข้าสู่วัยเรียน

ผู้ปกครองอีกท่านให้สัมภาษณ์ว่า มีความกังวลเช่นกันที่จะเกิดขึ้นแต่ก็ได้มีการพูดคุยกับตัวเด็กถึงการไปโรงเรียนในแต่ละวันซึ่งก็จะมีการแกล้งกันบ้าง แต่มองว่าเป็นเรื่องปกติของเด็กที่เล่นกันก็จะมีทะเลาะกันบ้างแต่เมื่อโตขึ้นพฤติกรรมนั้นจะหายไปเองเพราะเด็กจะเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเองและสามารถคิดเองได้แล้ว

อาจารย์ ปิยพงศ์  แซ่ตั้ง อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้ข้อมูลสาเหตุของคนที่มีพฤติกรรม Bully ผู้อื่น ไว้ว่า การที่คน ๆ หนึ่งลุกขึ้นมาบูลลี่คนอื่น มักมีปัญหาพื้นฐานทางด้านจิตใจ เช่น การรู้สึกโดดเดี่ยว และไม่มีความสำคัญจนนำไปสู่การกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่นเพื่อต้องการเรียกร้องความสนใจ หรือ เป็นที่สนใจ  หรือ ปัญหาทางด้านสังคม เช่น สภาพแวดล้อมที่มีพฤติกรรมรุนแรง ซึมซับจนติดเป็นนิสัยจนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ และส่วนหนึ่งมองว่าคนที่บูลลี่คนอื่นก็เพื่อแสดงความต้องการมีอำนาจเหนือผู้อื่น พยายามทำให้คนอื่นรู้สึกด้อยค่า ไม่ว่าจะด้วยการใช้คำพูด การกระทำ การดูถูกเหยียดหยาม แต่ในความเป็นจริง สำหรับคนทั่วไปการกระทำเหล่านี้กลับให้ความรู้สึกตรงกันข้าม 

อาจารย์ ปิยพงศ์ ยังเผยอีกว่า การที่เราจะบูลลี่คนอื่นได้มันมีทฤษฎีเรื่องของการตกเป็นเหยื่อ ทฤษฎีวัฎจักรความรุนแรง ที่เรามองว่าก่อนที่เราจะเป็นคนบูลลี่คนอื่น ชีวิตเราต้องผ่านการบูลลี่มาก่อน คนนั้นก็เรียนรู้วิธีการบูลลี่จากคนอื่นแล้วก็ไปบูลลี่เหยื่อที่อ่อนแอกว่าตน นอกจากนี้สาเหตุที่คนบูลลี่คนอื่นยังมีเรื่องนิสัยมาเกี่ยวข้อง เช่น รู้สึกอิจฉา ดังนั้นสาเหตุของการบูลลี่ผู้อื่นของแต่ละคนนั้นมีปัจจัยที่ต่างกัน 


ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการข่มเหงรังแกกันเป็นปัญหาที่พบบ่อยมากแต่มักถูกมองข้ามง่ายในสังคมไทย และพบว่าร้อยละ 40 – 80ของเด็กวัยเรียนเคยถูกรังแกอย่างน้อย 1 ครั้งโดยอาจเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่าเด็กพิเศษมีความเสี่ยงที่จะถูกรังแกมากกว่าเด็กกลุ่มอื่นเนื่องจากเด็กกลุ่มนี้มีระดับความต้านทานต่อแรงกดดันที่ต่ำเมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ทำให้เครียดหรือกังวลก็จะแสดงอาการที่แตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ เช่น ตะโกนเสียงดังแสดงท่าทางซ้ำๆ ซึ่งจะทำให้เป็นเป้าหมายของการถูกรังแกรวมถึงความล่าช้าของพัฒนาการบางด้านในเด็กกลุ่มนี้หรือในเด็กที่การเคลื่อนไหวไม่มั่นคงอาจทำให้เด็กถูกมองว่าอ่อนแอกว่าจนเป็นเหยื่อของการรังแกได้

สำหรับวิธีป้องกันลูกไม่ให้ถูกรังแก นั้น ผอ.สถาบันราชานุกูล ได้แนะ 5 วิธีป้องกัน ดังนี้

1. ชวนลูกพูดคุยถึงการข่มเหงรังแก โดยยกประสบการณ์การถูกรังแกของคนในครอบครัวให้เด็กฟังเพื่อให้เด็กเข้าใจว่าเหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้

หากเคยเกิดขึ้นกับเด็กก็จะเป็นโอกาสให้เด็กเล่าให้ผู้ปกครองฟังหากเด็กเล่าเรื่องนี้ ควรให้กำลังใจเด็ก และปรึกษากับคุณครูที่โรงเรียนเพื่อหาวิธีการที่โรงเรียนจะรับรู้เรื่องนี้และให้การช่วยเหลือเด็ก

2. กำจัดตัวล่อของการถูกรังแก เช่น หากเด็กถูกข่มขู่เรียกเงินค่าอาหารกลางวันหรือของใช้ส่วนตัวก็ให้เด็กนำข้าวกล่องไปทานหรืองดให้เด็กพกของมีค่าไปโรงเรียน เป็นต้น

3. ให้ทำกิจกรรมโดยมีเพื่อนอยู่ด้วย อย่างน้อย 2 คนขึ้นไปซึ่งมีโอกาสที่จะถูกรังแกได้น้อยกว่าการอยู่คนเดียว

4. ไม่แสดงอารมณ์หรือปฏิกิริยาโต้ตอบต่อการกระทำนั้นๆเพียงแต่บอกผู้รังแกว่าให้หยุดพฤติกรรมนั้น แล้วเดินห่างออกมาหากเด็กสามารถควบคุมอารมณ์ไม่แสดงอาการ จะลดแรงจูงใจในการถูกรังแกได้

5. พ่อแม่ควรพูดคุยกับผู้ปกครองของเด็กที่เป็นผู้รังแกโดยควรมีคุณครูหรือนักจิตวิทยาโรงเรียนเข้าร่วมพูดคุยด้วย

นอกจากนี้ ยังได้แนะ 5 วิธี ช่วยลูกหยุดรังแกเพื่อน ได้แก่

1. สอนให้เด็กรู้ว่าการรังแกผู้อื่นเป็นพฤติกรรมรุนแรงที่ไม่ได้รับการยอมรับทั้งจากผู้ปกครองในบ้านและในสังคมภายนอก

2. สอนให้เด็กเคารพสิทธิของผู้อื่นและปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสมตลอดจนสนับสนุนให้เด็กได้มีกิจกรรมร่วมกับเด็กที่มีความแตกต่างกับตัวเอง

3.หาข้อมูลเกี่ยวกับเหตุที่ทำให้เด็กรังแกเพื่อนทั้งในด้านครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียน เช่น มีเด็กคนอื่นที่ชอบรังแกเพื่อนอีกหรือไม่เพื่อนๆของลูกมีพฤติกรรมนี้ด้วยหรือไม่ ลูกต้องเผชิญกับความกดดันใดหรือไม่โดยปรึกษาคุณครู นักจิตวิทยาโรงเรียน หรือกลุ่มผู้ปกครองในการหาทางแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน

4.ชมเชยหรือให้รางวัล เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดีสามารถแก้ไขความขัดแย้งโดยใช้วิธีทางบวกและสร้างสรรค์

5. เป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็ก ถ้าผู้ปกครองแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อหน้าเด็ก เด็กจะมีพฤติกรรมเลียนแบบควรแสดงให้เด็กเห็นว่าการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการจัดการต่ออารมณ์ด้วยตนเองเป็นอย่างไร

 

อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/700070

กรมสุขภาพจิต https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=27485

แบ่งปันบทความนี้