กรมสุขภาพจิตเผยสถิติผู้ป่วยซึมเศร้าในไทยมีแนวโน้มฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นด้านผู้เชี่ยวชาญแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาการเกิดโรค

กรมสุขภาพจิตเผย ในปี 2559 – 2560 มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วโลกประมาณ 322 ล้านคน และในไทย มีข้อมูลการสำรวจความชุกของโรคซึมเศร้าปี 2551 พบว่า มีคนไทยป่วยซึมเศร้า 1.5 ล้านคน ผู้หญิงเสี่ยงป่วยมากกว่าผู้ชาย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์โรคซึมเศร้าในสังคม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางสุขภาพ และเป็นโรคใกล้ตัวที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากไม่ได้รับการรักษาอาจรุนแรงจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ โดยมีข้อมูลการสำรวจความชุกของโรคซึมเศร้าปี2551 พบว่า มีคนไทยป่วยซึมเศร้า 1.5 ล้านคน หากพิจารณาตามเพศและอายุของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า พบว่า ผู้หญิงเสี่ยงป่วยมากกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานอายุ 25-59 ปี ร้อยละ 62 รองลงมาเป็นวัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 26.5 และเป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 11.5 ทั้งนี้ แม้ในกลุ่มเยาวชนจะมีสัดส่วนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าน้อยกว่าในกลุ่มวัยทำงานและวัยผู้สูงอายุ แต่นับเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญและต้องเร่งแก้ไขเนื่องจากวัยรุ่นเป็นทรัพยากรที่มีค่าในการพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น โดยมีข้อมูลพบว่า ในปี 2560 กลุ่มเยาวชนอายุ 20-24 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายที่ 4.94 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 5.33 ต่อประชากรแสนคน

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับการให้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่พบว่า กลุ่มเยาวชนโทรเข้ามาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2561 จากการให้บริการปรึกษาทางโทรศัพท์ทั้งสิ้น 70,534 ครั้ง

กลุ่มเด็กอายุ 11-19 ปี 10,298 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 14.6

กลุ่มเยาวชนอายุ 20-25 ปี 14,173 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 20.1

โดย 5 อันดับปัญหาที่พบมากที่สุดในกลุ่มเด็กและเยาวชน คือ ปัญหาความเครียดหรือ วิตกกังวล

ปัญหาทางจิตเวช ปัญหาความรัก ปัญหาซึมเศร้า และปัญหาครอบครัว

สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 มีผู้โทรเข้ามาใช้บริการทั้งสิ้น 40,635 ครั้ง

เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 11-25 ปี จำนวน 13,658 ครั้ง

เมื่อจำแนกตามประเภทของปัญหาพบว่า สัดส่วนของเด็กและเยาวชน ที่มีปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล ปัญหาความรัก ซึมเศร้า และมีความคิดหรือความพยายามฆ่าตัวตายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

จากงานวิจัยการป้องกันและการแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้าของนายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาได้แนะนำมาตรการการแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้าของประเทศไทยด้วยการ

  • ลดอคติ สร้างความตระหนักรู้ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
  • ลดการเกิดโรคในผู้ที่เสี่ยงโดยค้นหาและป้องกัน
  • ลดระยะเวลาและความรุนแรงของอาการซึมเศร้าในผู้ป่วยโดยดูแลตั้งแต่เริ่มมีอาการด้วยวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพ
  • ป้องกันการฆ่าตัวตายซึ่งเป็นผลแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคซึมเศร้า
  • ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำและการกลับมาเป็นใหม่

อีกทั้งยังอธิบายกระบวนการระบบดูแลเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าในระดับจังหวัด

ประกอบด้วยการคัดกรองโรคซึมเศร้า 2 คำถาม ( 2Q ) เป็นแบบคัดกรองค้นหาผู้ที่มีแนวโน้มหรือเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคซึมเศร้าใช้สัมภาษณ์เพื่อประเมินภาวะซึมเศร้าใน 2 สัปดาห์โดยคำตอบมี2แบบคือ มีและไม่มี  > การทำแบบประเมินโรคซึมเศร้า 9 คำถาม ( 9Q ) เป็นเครื่องมือประเมินและจำแนกความรุนแรงของโรคซึมเศร้า9ข้อแบ่งการประเมินเป็น 4ระดับ > การทำแบบประเมินความเสี่ยงการฆ่าตัวตายด้วย ( 8Q ) เป็นเครื่องมือประเมินและจำแนกระดับของแนวโน้มการอยากฆ่าตัวตายในปัจจุบัน > กระบวนการวินิจฉัยโรค > กระบวนการดูแลรักษาตามระดับความรุนแรง > เฝ้าระวังการกลับมาเป็นซ้ำด้วยแบบประเมินโรคซึมเศร้า 9 คำถาม ( 9Q )

โดยมีผลอ้างอิงจากฐานข้อมูลระบบดูแลเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต รายงานว่า ระบบดูแลเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าในระดับจังหวัดมีประสิทธิภาพเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในปี2559 ได้อย่างดีเยี่ยม โดยพบจำนวนกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับการคัดกรองโรคในปี2559 จำนวน 14,202,407 ราย มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ได้รับการรักษาจนหาย จำนวน 452,064 ราย และ พบการายงานผู้ป่วยที่กลับเป็นซ้ำ จำนวน 962 ราย โดยมีข้อมูลพบว่าปี 2559 มีอัตราการฆ่าตัวตายที่ 0.28 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน

ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ข่าวกรมสุขภาพจิต และนายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข

 

แบ่งปันบทความนี้