คณะสื่อสารมวลชน
มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เปิดเทศกาลหนังอาเซียนครั้งที่ 3 อย่างเป็นทางการ

RAFF2018-180920-00381

รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและประกันคุณภาพ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นประธานในพิธีเปิดเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนครั้งที่ 3 อย่างเป็นทางการ

กรุงเทพ – วานนี้ (19 ก.ย.) ผศ.ดร.บุญชาล ทองประยูร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและประกันคุณภาพ ในฐานะผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นประธานเปิดเทศกาลภาพยนตร์อาเซียน ครั้งที่ 3 หรือ The 3rd RU ASEAN Film Festival (RAFF 2018) ภายใต้แนวคิด “ASEAN Women – ผู้หญิงอาเซียน”

โดยรองอธิการบดีฯ กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของการจัดงานครั้งนี้ว่า ปัจจุบันการเปิดรับสื่อระหว่างกันภาคในภูมิภาคอาเซียนแน้วโน้วที่สูงมากขึ้น โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่มีลักษณะเป็นสื่อบันเทิงอย่างภาพยนตร์ จนเกิดเป็นปรากฏการณ์การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมร่วมกันอยู่เสมอ ดังจะเห็นได้จากแนวโน้มการหมุนเวียนเข้าฉายของภาพยนตร์ที่เป็นผลผลิตภายในภูมิภาคอาเซียนที่มากขึ้น หรือการให้ความสนใจของเหล่าผู้รับชมและนักวิจารณ์ ตลอดจนความร่วมมือในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระหว่างประเทศสมาชิกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

“ด้วยแนวโน้มและปรากฏการณ์ดังกล่าว คณะกรรมการบริหารแผนอาเซียน และคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ริเริ่มจัดโครงการ “เทศกาลภาพยนตร์อาเซียน” ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เพื่อถ่ายทอดผลงานภาพยนตร์อาเซียนที่ได้รับรางวัลในระดับโลก ควบคู่กับการเสวนาจากนักวิชาการ และผู้มีประสบการณ์ด้านภาพยนตร์ ซึ่งจากการดำเนินงานทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมาได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี และด้วยความสำเร็จของโครงการดังกล่าว จึงได้มีนโยบายในการจัดโครงการนี้อย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน โดยในปีนี้ได้รับเกียรติจากผู้กำกับ นักแสดง ผู้ผลิตภาพยนตร์ รวมไปถึงนักวิจารณ์ภาพยนตร์เข้าร่วมงานมากมาย อาทิ คุณพิมพกา โตวีระ, คุณบัณฑิต ทองดี , Ms. Vilouna Phetmany นักแสดงจากประเทศลาว, Mr.Nick Ray ผู้ผลิตภาพยนตร์จากประเทศกัมพูชา เป็นต้น ในการนี้ คณะกรรมการจัดงาน ยังได้มอบรางวัล RAFF Award ประจำปี 2018 แก่คุณพิมพกา โตวิระ ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย ในฐานะผู้กำกับหญิงที่สร้างชื่อเสียงแก่วงการภาพยนตร์อาเซียน พร้อมทั้งเปิดฉายภาพยนตร์เรื่อง มหาสมุทรและสุสาน (The Island Funeral) ผลงานกำกับของคุณพิมพกา เป็นเรื่องแรก จากทั้งหมด 6 เรื่อง เพื่อเป็นเกียรติในพิธีเปิดเทศกาลอีกด้วย”

โดยมีภาพยนตร์จาก 6 ประเทศเข้าฉาย ได้แก่ อาทิ BARBER’S TALE จาก ฟิลิปปินส์ , MUALLAF จาก มาเลเซีย , DEAREST SISTER หรือ น้องฮัก จากสปป.ลาว The Last Reel จากกัมพูชา MARLINA THE MURDERER IN FOUR ACTS จากอินโดนีเซีย  และ มหาสมุทรและสุสาน จากประเทศไทย

ในช่วงของการเสวนาก่อนเข้าพิธีเปิด Vilouna Phetmany นักแสดงจากหนังเรื่อง Dearest Sister หรือ น้องฮัก ได้อธิบายให้เห็นถึงหนังเรื่องนี้ว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังเรื่องแรกของลาวที่เป็น Drama Horror ไม่ใช่หนังตลาด เราเล่นบทคนตาบอดด้วย ก็เป็นอะไรที่แปลก คนก็จำเรื่องของเราได้ อีกทั้งเกี่ยวกับ ตัวเลข หวย เงิน ผี ความโลภ เงินเปลี่ยนชีวิต และเปลี่ยนความคิดของเรา มุมมองของคนไม่มีทางเลือก ก็ถูกนำเสนอผ่านหนังเรื่องนี้

ในส่วนของ Nick Ray ในฐานะ Executive Producer กล่าวเสริมถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในกัมพูชาว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในกัมพูชากำลังเติบโต โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น ซึ่งใช้สมาร์ทโฟน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่มุมมองของเขา โดยหากพูดถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในกัมพูชาก็จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงใหญ่ ๆ คือ ช่วงก่อนสงคราม คือในช่วงปี 1960-1970 ซึ่งหนังไทยกัมพูชาแข็งแรงมาก เป็นยุคทองของหนังกัมพูชา และช่วงสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคเขมรแดง จนถึงปัจจุบันที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการพูดถึงเรื่องของตนเองเพิ่มขึ้น และหากเทียบกับประเทศไทย อุตสาหกรรมหนังกัมพูชาก็น่าจะเหมือนกับยุคหนังไทยเมื่อยุค 1970 ในส่วนของบทบาทของผู้หญิงในอาเซียนนั้น Nick ให้ความเห็นว่า น่าจะเหมือนกับไทยเมื่อ 15-20 ปีที่แล้ว ที่ส่วนมากจะมีแต่ผู้ชายทำ หรืออาจจะคล้าย ๆ กับในฮอลลีวูดที่ หน้าที่ของผู้หญิงจะมีแค่ เป็นนักแสดง หรืออยู่ในสายการผลิตบ้าง แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้หญิงเริ่มมีบทบาทมากขึ้น เริ่มมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ในเกือบจะทุก ๆ ภาคส่วนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ส่วนที่ยังไม่เห็นมากนัก เช่น ในส่วนของการถ่ายทำ

ในส่วนของการที่ภาพยนตร์ของกัมพูชาจำนวนมากพูดถึงเรื่องเขมรแดงนั้น คุณ Nick ก็บอกว่าการทำหนังที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้เป็นเหมือนการทำหนังเพื่อบำบัด เนื่องจากประชาชนจำนวนมากยังคงเจ็บปวดอยุ่กับอดีตในช่วงสงคราม การทำหนังที่เกี่ยวเนื่องกับเขมรแดงก็จะมีส่วนช่วยเยียวยาอย่างหนึ่ง จากนี้ไปก็จะมีหนังในประเด็นอื่นบ้างแล้วเพราะคนทำหนังรุ่นใหม่ไม่ได้รับมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับสงครามแล้ว

แชร์เลยตอนนี้ :

ข่าวการศึกษา