มหาวิทยาลัยรามคำแหงมอบรางวัลเกียรติยศ 2018 RAFF Award ให้กับคุณพิมพกา โตวิระ ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ในฐานะผู้กำกับหญิงที่สร้างชื่อเสียงแก่วงการภาพยนตร์อาเซียน ในวันเปิดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนครั้งที่ 3
กรุงเทพฯ – วานนี้ (19 ก.ย.) คณะกรรมการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนได้มีมติมอบรางวัล RAFF Award ให้กับคุณพิมพกา โตวิระ ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย โดยมีคุณบัณฑิต ทองดี นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เป็นผู้อ่านคำประกาศเกียรติคุณ และมอบรางวัลในครั้งนี้
โดยคุณพิมพกาได้กล่าวหลังจากรับมอบรางวัลว่า “รู้สึกเป็นเกียรติและขอบคุณ ตัวเองไม่ได้คาดหวังกับรางวัล นอกเหนือจากการได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของวงการภาพยนตร์ ก็คือรู้สึกว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ต่อไปอาจจะมีผุ้ทำงานแล้วได้รับสิ่งนี้แบบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นกำลังใจในการทำงานต่อไป”
นอกจากนี้ คุณพิมพกา ยังไม่ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษก่อนเริ่มงานเทศกาลหนังอาเซียนว่า ขอบคุณคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหง และผู้จัดงาน RU ASEAN Film Festival ค่อนข้างซาบซึ้ง
โดยคุณพิมพกาเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงการเรียนและการฝึกงานในวงการภาพยนตร์ว่าผู้หญิงในอุสาหกรรมนี้ยังไม่ได้รับกทรยอมรับมากนักในยุคเมื่อ 30 ปีที่แล้ว “ตนเองเริ่มจากการดูหนัง ชอบดูหนัง เป็นส่วนหนึ่งของการทำภาพยนตร์ ตอนเรียนที่ธรรมศาสตร์ ก็มีความแตกต่างระหว่างผู้หญิงผู้ชายก็ไม่ได้เอามาคิด เราก็ทำหนังเหมือนเพื่อนผู้ชายทำ พอเริ่มทำภาพยนตร์ มีความรู้สึกว่า ผู้หญิงดูยากเย็น อย่างตอนทำงานกลุ่ม ก็จะเลือกผู้ชายเป็นผู้กำกับ ก็จะไม่เลือกผู้หญิงก่อน ก็มีความคิดว่าทำไมต้องเป็นผู้ชาย แต่ควรต้องดูที่ความสามารถโดยไม่ต้องมองว่าเป็นผู้ชายหรือเป็นผู้หญิง จนกระทั่งฝึกงานที่บริษัทหนังไทย ตอนนั้นยังไม่มีหนังนอกกระแสหรืออะไร ตอนนั้นถ้าอยากทำหนังไทยก็ต้องเข้าระบบ ก็คือต้องเข้าไปฝึกงานก่อน เริ่มเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ยังไม่มีแนวคิดว่าจะทำหนังที่ทำเอง ขายเอง มันไม่มีพื้นที่
ตอนนั้นคนอยากทำหนัง ก็ต้องเข้าระบบให้ได้ พอวันแรกที่เข้าไปก็ถูกทดสอบ แต่สิ่งที่ถูกทดสอบมันไม่ใช่เรื่องของการศึกษา เรื่องความสามารถ แต่เป็นเรื่องการปรับตัวเข้าสู่ระบบ โดยเฉพาะเป็นผู้หญิงก็จะถูกจัดให้ทำอะไรที่มันไม่สำคัญ เช่น ชงกาแฟให้ผู้กำกับ ไปกั้นรถ
กว่าจะได้รับผิดชอบ ต้องทำตัวให้เหมือนผู้ชาย มีบุคลิกแบบผู้ชาย ทำไมต้องทำตัวแบบนั้นเพื่อให้ได้อยู่ในระบบ เราก็ถามว่าผู้กำกับภาพยนตร์คนหนึ่งว่าทำอย่างไรจะมีการเปลี่ยนแปลง เขาก็บอกว่ามันเปลี่ยนได้หรอก วงการนี้มันอาถรรพ์ มันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ คุณมันแค่ตัวเล็ก ๆ
หลังจากฝึกงานจบคุณพิมพกาเลือกที่จะไปทำอาชีพอื่นหลังจากรู้สึกท้อแท้จากการฝึกงาน แต่การทำหนังสั้นก็ทำให้คุณพิมพการู้สึกถึงโลกทัศน์ใหม่ ช่องทางใหม่
มันไม่ได้แปลว่าอุตสาหกรรมนี้ หรือคนในอุตสาหกรรมนี้รังเกียจผู้หญิง แต่คุณต้องพิสูจน์ตัวเองว่าคุณเป็นผู้หญิงที่มีความสามารถ หรือเป็นผู้หญิงที่ทำได้แบบผู้ชายเพื่อคุณจะได้อยู่ในการทำสิ่งนี้
“สุดท้ายก็มีโอกาสได้ทำหนังยาวเรื่องแรง คือ เรื่องคืนไร้เงา คือต่อให้ไม่คิดมากและทุกคนเปิดโอกาสให้เรา แต่ก็รู้สึกว่ามันอยู่ในแวดวงเรา จนต้องพิสูจน์เรื่องที่ 2 เรื่องที่ 3 เราถึงรู้สึกว่าเราทำได้จริง ๆ เราทำได้เพราะเราเป็นผู้หญิง ไม่ได้ทำได้เพราะเรามีอะไรที่เหมือนผู้ชาย อันนี้ไม่ได้แปลว่าเป็นความกดดันรุนแรง แต่เป็นความรู้สึกสะสมตั้งแต่เริ่มทำหนังเมื่อตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน แต่ปัจจุบันขอบอกว่า การทำหนัง Independent หรือการทำหนังนอกกระแสสามารถทำให้ผู้หญิงมีบทบาทของตัวเองได้มากขึ้น” คุณพิมพกากล่าว
ในส่วนของการส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงคุณพิมพกามองว่าไม่อยากให้เป็นเพียงกระแส แต่อยากให้มองที่ความสามารถในการทำงานโดยไม่มองเรื่องเพศเป็นตัวนำ “อยากจะบอกว่ากระแส #MeeToo ทำให้ทุกคนกลับมามองผู้หญิงในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากขึ้น แต่เรารู้สึกว่า #Meetoo อย่างเดียวว่าเพราะกระแสมันทำให้คนมาสนใจแต่อยากให้รู้สึกว่าบทบาทของผู้หญิงมันอยู่ในฐานะที่เท่ากับผู้ชายอยู่แล้ว อยากให้มองว่าในโลกของการทำงานมันเป็นโลกของความสามารถ จะเป็นผู้หญิง หรือผู้ชายก็สามารถทำงานได้เหมือนกัน มันไม่ใช่เรื่องของร่างกายแต่เป็นเรื่องของจิตใจที่ถ้าจิตใจคุณสามารถผลักดันให้คุณทำได้ ก็คือคุณทำได้ ให้มองเป็นคนปกติเท่าผู้ชาย สิ่งนี้ทำให้ผู้หญิงได้รับการยอมรับได้ด้วยตนเอง ผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน”
สุดท้าย ขอบคุณที่ให้ความสำคัญกับบทบาทผู้หญิง ซึ่งจริง ๆ บทบาทผู้หญิงขับเคลื่อนมานานแล้วในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อยู่ในองค์ประกอบต่าง ๆ จัดอยู่ในส่วนขององค์ประกอบ
ทั้งนี้คุณพิมพกา กล่าวทิ้งท้ายว่า “ถ้าจะให้ความสำคัญกับผู้หญิง อย่าให้ความสำคัญเพราะว่าเขาเป็นผู้หญิง แต่ให้ความสำคัญเพราะเขาเป็นคนทำงานที่ทำงานได้ดีเท่ากับทุกคน ทำได้ทุกสิ่งทุกอย่างเท่ากับที่ทุกคนทำได้”