มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นมหาวิทยาลัยที่จัดระบบการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาในลักษณะ “ตลาดวิชา” ให้แก่ประชาชนทุกชนชั้น ทุกระดับ ทุกฐานะทางสังคม การเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้ แนวคิด ทฤษฎี และเทคโนโลยีทางการสื่อสารและการสื่อสารมวลชนมีการพัฒนาและก้าวหน้า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคม

นักสื่อสารมวลชนมีความสำคัญต่อการพัฒนาในทุกระดับชั้นตั้งแต่ชุมชนจนถึง ประเทศชาติ ประชาคมอาเซียนและนานาชาติ แต่เดิมมหาวิทยาลัยรามคำแหงเปิดสอนวิชาด้านการสื่อสารและการสื่อสารมวล ชนเป็นวิชาเลือกในภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 มีพระราชบัญญัติก่อตั้งภาควิชาสื่อสารมวลชน เปิดสอนสาขาวิชาสื่อสารมวลชนเป็นวิชาเอก ตั้งแต่ พ.ศ. 2535

ด้วยมีนักศึกษาสนใจเรียนสาขาวิชาด้านสื่อสารมวลชนจำนวนมาก และมีความสนใจในศาสตร์การสื่อสารมวลชนเฉพาะสาขามากขึ้นมหาวิทยาลัยจึงมอบหมายให้ภาควิชาสื่อสารมวลชนเตรียมการยกฐานะภาควิชาสื่อสารมวลชนเป็นคณะที่จัดการเรียนการสอนด้านสื่อสารมวลชน

การประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ครั้งที่ 4/2545 วาระที่ 4.8 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2545 มีมติให้จัดตั้ง “คณะเทคโนโลยีการสื่อสารมวลชน” และมีประกาศมหาวิทยาลัยรามคำแหงเรื่องการจัดตั้งคณะเทคโนโลยีการสื่อสารมวลชน ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2545 และให้อยู่ในความดูแลของคณะมนุษยศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการสื่อสารมวลชน จัดการเรียนการสอนหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต 3 สาขา ได้แก่
1) สาขาวิชาการสื่อสารบูรณาการ
2) สาขาวิชาวารสารศาสตร์สื่อประสม
3) สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

สูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต 2 สาขา ได้แก่
1) สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน
2) สาขาวิชาเทคโนโลยีการสื่อสารมวลชน

สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ในการประชุมครั้งที่ 12/2555 วาระที่ 5.6 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 มีมติอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อคณะเทคโนโลยีการสื่อสารมวลชน เป็น “คณะสื่อสารมวลชน” โดยให้รวมการดำเนินการของภาควิชาสื่อสารมวลชนและคณะสื่อสารมวลชนเข้าด้วยกัน เป็นคณะในกำกับราชการอีกคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัยรามคำแหง อย่างเป็นทางการ