คณะสื่อสารมวลชน
มหาวิทยาลัยรามคำแหง

“หมออุดม” หนุนให้มหาวิทยาลัยเป็นที่สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและฝึก Soft skill ให้นักศึกษาเพื่อพร้อมในการทำงานได้ทันที

LINE-ALBUM-ramtlak ครั้งที่ 2-๒๒๐๒๐๙-2

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ย้ำสถาบันอุดมศึกษาต้อง “สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ให้กับผู้เรียนเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนของสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังต้องเป็นพื้นที่ในการสร้างนวัตกรเพื่อนำความรู้ที่ได้จากการเรียนไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิต

ในการปาฐกถาพิเศษในรายการรามทอล์ค ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้บรรยายในประเด็น “อนาคตอุดมศึกษาไทย” ว่าการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาจะต้องปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์ปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ที่เน้นการสร้างนวัตกรรม ส่วนการเตรียมความพร้อมของคนให้มี ความคิดแบบยึดหยุ่น (Flexible minds) สามารถปรับตัวได้ดี (adaptive workforce) สร้างคนให้มี Growth mindset และการเรียนรู้แบบการแก้ไขปัญหาและการเรียนรู้เชิงประสบการณ์

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม ชี้ให้เห็นจากสิ่งที่นำเสนอใน World Economic Forum ปี 2018 ในประเด็นเรื่องการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยว่า การเรียนการสอนจะเป็นการหลอมรวมรายวิชามากยิ่งขึ้นและมีวัฒนธรรมการเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น

ดังนั้นการอุดมศึกษาในยุคหลังโควิด-19 นั้น ในส่วนของบริบท (context) นั้นมี 3 เป้าที่ต้องทำให้คือ 1) 2S Safety คือ นักศึกษา(Student) และบุคลากร(Staff) 2) ไม่แออัด (non crowded) 3) ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (Education Equity) ยิ่งช่วงโควิด-19 ยิ่งเห็นได้ชัดว่ามีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยเฉพาะการเข้าถึงอุปกรณ์เพื่อการศึกษาออนไลน์ที่ยังเหลื่อมล้ำอยู่มาก การจะทำให้ประสบความสำเร็จตามนี้ได้นั้น จะต้อง Re-design education ทั้งในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ระบบการทำงาน (workflow) และ การปรับส่วนบุคคล (personnel) และการมี Digital Solutions หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหา ในส่วนของ เนื้อหา(content) ต้องเน้นสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต เน้นการเรียนรู้จากการทำงาน การคิดวิเคราะห์ เกิดจินตนาการ และแรงบันดาลใจ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม โดยใช้แพลตฟอร์ม การเรียนรู้แบบ Blended learning คือ ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์

“อุดมศึกษาใหม่ต้องมีนวัตกรรม อันดับแรกคือต้องมีนวัตกรรมในการจัดการ การจัดการเรียนการสอนทั้งหลาย กับการจัดนวัตกรรมในการพัฒนาคน ต้องพัฒนาคนให้เป็น “นวัตกร” และผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมที่สามารถออกแบบนวัตกรรมและนำไปใช้เชิงพาณิชย์ได้…” ศ.นพ.อุดมกล่าว

สถาบันอุดมศึกษาต่อไปจึงควรเป็นแหล่งเรียนรู้เป็น “แหล่งสร้างสรรค์นวัตกร : Makerspace” ให้ผู้เรียนได้มีการเลือกสร้างนวัตกรรมที่ตรงกับความใฝ่ฝัน (Passion) ของตนเอง มีการเรียนเพื่อเป็นผู้นำในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงอย่างมีนวัตกรรม : Real-life innovative application อาจารย์นอกจากเป็นผู้สอนหนังสือ ต้องเปลี่ยนเป็น ผู้นำการเปลี่ยนแปลงชีวิตนักศึกษา ทั้งการเป็น ผู้ชี้แนะ(Coach) การเป็นผู้ออบแบบการเรียนรู้ (Learning designer) และผู้สร้างนวัตกร (Innovator creator)

ในส่วนของคุณลักษณะของกำลังคนที่จะเป็น Global Professionals (มืออาชีพระดับโลก) จะต้องเป็นคนที่มีทักษะ T-shape ทั้งระดับกว้างและลึก (T-shaped breadth & depth) สิ่งที่สองคือต้องเก่งระดับโลก (Globally talented) สิ่งที่สามคือ ต้องมีความคิดที่จะเป็นผู้ประกอบการเองได้ (Entrepreneurially minded) สิ่งสุดท้ายคือ จะต้องมีความคิดในการเสียสละเพื่อสังคม (Socially Contributing)

วิทยากรมองว่า ปัจจุบันทักษะ Soft skill จะเป็นทักษะสำคัญสำหรับนักศึกษาที่จะออกไปทำงานในปัจจุบันและอนาคตต่อไป ทำให้มหาวิทยาลัยไม่ควรมองแค่ประเด็นเรื่องการศึกษาเท่านั้น แต่จะต้องให้ความสำคัญกับกิจกกรรมพัฒนานักศึกษามากยิ่งขึ้นอีกด้วย ซึ่งกิจกรรมพัฒนานักศึกษาจะเสริมสร้างทัศนคติ บุคลิก อุปนิสัย ทักษะสำหรับบริบทโลกใหม่ ทำให้เข้าใจตนเอง เข้าใจคนอื่น ซึ่งคนที่จะประสบความสำเร็จต้องมีครบทั้งความสามารถทางวิชาการ มีทักษะในการปฏิบัติงาน การพัฒนาทางอารมณ์ และทักษะชีวิต

“…ในส่วนของหลักสูตรสำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้น ต้องตรงกับความต้องการของประเทศและตลาดแรงงาน ต้องก้าวให้ไว ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในอนาคต กระบวนการเรียนการสอนต้องเป็น Experienced-based, Project-based, Competency-based เน้นการ Re-train, Re-skill, Up-skill ต้องมีการทำให้ผู้เรียน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ (Change Leader) มหาวิทยาลัยต้องเชื่อมโยงกับภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม อาจารย์ต้องได้รับการอบรม(training) ให้มีความรู้ทันสมัย มีความชำนาญ…” ศ.นพ.อุดมกล่าว

การสร้างผลสัมฤทธิ์ของอุดมศึกษาไทยต้องตอบสนองตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งของไทยและของโลก ดังนั้นจึงแบ่งเป็น 3 เสาหลัก คือ 1) การศึกษาและวิจัย คือการศึกษาเพื่อให้ได้ความรู้และนวัตกรรม 2) การฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะและสมรรถนะ และ 3) การเสริมสร้างคุณลักษณะ ทัศนคติที่ดี ที่มีคุณค่าที่ตอบโจทย์โลกใหม่ที่สร้างความสามารถในการแข่งขัน และที่สำคัญคือ “ต้องสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพราะทุกอย่างเปลี่ยนเร็วมาก”

 

แชร์เลยตอนนี้ :

ข่าวการศึกษา

กิจกรรมของทางคณะ